เกี่ยวกับเรา
เกี่ยวกับเรา
ในอดีต “ตำบลหัวรอ” มีพื้นที่ร่วมกับ “ตำบลพลายชุมพล” มีชื่อเดิมว่า “ตำบลวัดตาล” ในเวลาต่อมาได้มีการแบ่งพื้นที่การปกครองออก เป็น ๒ ตำบล โดยอาศัยแม่น้ำน่านเป็นเส้นแบ่งเขตตำบล โดยตำบลหัวรอ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน และตำบลพลายชุมพลอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ชื่อ “หัวรอ” เดิมสันนิษฐานว่าในพื้นที่ หมู่ที่ ๔ บ้านตาปะขาวหาย (ปัจจุบัน) ในช่วงที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน กระแสน้ำได้โค้งกัดเซาะตลิ่งพังเสียหาย ชาวบ้านจึงได้นำเสาไม้มาปักกันดินริมตลิ่งพังทลาย ซึ่งเสาไม้นี้เรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า “หลักรอ” หรือ “เสารอ” จึงมีการตั้งชื่อตำบลอย่างเป็นทางการว่า “บ้านศีรษะรอ” ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานทางราชการอยู่ในโฉนดที่ดินฉบับเก่า ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังคงนิยมเรียกชื่อ “ตำบลหัวรอ” ตามความคุ้นเคยอย่างเดิม อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ในอดีตอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก มีสะพานสำหรับข้ามแม่น้ำน่านอยู่เพียงแห่งเดียว คือ “สะพานนเรศวร” หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “สะพานดำ” เนื่องจากโครงสร้างสะพานเป็นเหล็กทาด้วยสีดำ ตัวสะพานมีลักษณะค่อนข้างต่ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นเต็มฝั่ง น้ำจะไหลรอดเกือบถึงท้องสะพาน ทำให้เรือและแพที่สัญจรไม่สามารถรอดผ่านได้ จึงจำเป็นที่จะต้องจอดรอจนกว่าระดับน้ำจะลด สถานที่จอดรออยู่บริเวณ หมู่ที่ 1, หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 แต่ส่วนใหญ่จะจอดรออยู่ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 2 เพราะกระแสน้ำจะไหลแรงทางฝั่งของวัดตาลและวัดพลายชุมพลซึ่งฝั่งตรงกันข้าม ทำให้ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 กระแสน้ำไหลไม่แรง ถ้าน้ำไม่ลดระดับและทรงอยู่นานเป็นเดือน เรือและแพก็จะจอดรออยู่เป็นเดือนเช่นกัน ชาวเรือและชาวแพในจังหวัดพิษณุโลกโดยทั่วไปจะเรียกบริเวณ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 2 ว่า “หัวรอ” โดยมีความหมายว่า “หัว” คือ ส่วนที่อยู่ข้างหน้า “รอ” คือ การรอคอย “หัวรอ” จึงหมายถึง จุดนัดหมายหรือสถานที่การรอคอยนั่นเอง ในช่วงต่อมา ทางราชการจึงมีคำสั่งตั้งให้กำนันกำหนดชื่อตำบลและหมู่บ้าน นายบุญ ภุมรินทร์ กำนันในขณะนั้น จึงตั้งชื่อตำบลว่า “ตำบลหัวรอ” และกำหนดหมู่บ้านต่าง ๆ โดยเริ่มที่ตั้งทำการกำนันเป็นหมู่ที่ 1, 2, 3, และ 4, เรื่อยไปจนครบทั้งตำบล (วิชัย ภุมรินทร์, 2554)ตำบลหัวรอ
04 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 527 ครั้ง